ข้อบังคับของสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์
หมวดที่ ๑ ความทั่วไป
ข้อ ๑. สมาคมนี้มีชื่อว่า “ สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ”
ย่อว่า “ ส.ศ.ธ. ” เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “ The Thammasat Economics Association ”
ย่อว่า “ T.E.A. ”
ข้อ ๒. เครื่องหมายของสมาคมมีลักษณะเป็นรูป โดมมีรวงข้าว ๒ รวงรองรับ มีชื่อภาษาไทยและภาษาอังกฤษอยู่ส่วนล่าง
รูปของเครื่องหมายสมาคม
ข้อ ๓. สำนักงานของสมาคมตั้งอยู่ ณ อาคารคณะเศรษฐศาสตร์ชั้นที่ ๔ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เลขที่ ๒ แขวงพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร
ข้อ ๔. วัตถุประสงค์ของสมาคม เพื่อ
๔.๑ ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างนักเศรษฐศาสตร์ และผดุงเกียรติของมวลสมาชิก
๔.๒ เผยแพร่ความรู้ ทางวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์
๔.๓ ส่งเสริมคณะเศรษฐศาสตร์ให้เจริญก้าวหน้า และสนับสนุนการศึกษา การวิจัยวิชาการทางเศรษฐศาสตร์
๔.๔ ช่วยเหลือและสนับสนุนนักศึกษาเศรษฐศาสตร์
๔.๕ ช่วยเหลือและส่งเสริมสามัคคีธรรม ของสมาชิกในสมาคมในทางที่เป็นประโยชน์ซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมาย และศีลธรรมอันดีของปวงชน
หมวดที่ ๒ สมาชิก
ข้อ ๕. สมาชิกของสมาคมมี ๓ ประเภท คือ
๕.๑ สมาชิกสามัญ ได้แก่ ผู้สำเร็จปริญญาตรีขึ้นไป หรือผู้ที่เคยขึ้นทะเบียนเรียนในคณะเศรษฐศาสตร์ และพ้นสภาพเป็นนักศึกษาตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยไปแล้ว หรือผู้ที่เคยเป็นอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ หรือผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากคณะเศรษฐศาสตร์ หรือผู้ที่รับปริญญาเศรษฐศาสตร์จากสถาบันอื่น ๆ ซึ่งคณะกรรมการมีมติเห็นชอบ
๕.๒ สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลผู้ทรงเกียรติ หรือทรงคุณวุฒิ หรือผู้มีอุปการคุณแก่สมาคม ซึ่งคณะกรรมการลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม
๕.๓ สมาชิกสมทบ ได้แก่ บุคคลที่กำลังศึกษา วิชาการทางเศรษฐศาสตร์
ข้อ ๖. สมาชิกจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
๖.๑ เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว
๖.๒ เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย
๖.๓ ไม่ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้บุคคลล้มละลาย หรือไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือต้องโทษจำคุก ยกเว้นความผิดฐาน ประมาทหรือหลุโทษการต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดในกรณีดังกล่าว จะต้องเป็นในขณะที่เข้าสมัครเป็นสมาชิกหรือระหว่างที่เป็นสมาชิกของสมาคมเท่านั้น
ข้อ ๗. ค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงสมาคม “ สมาชิกทุกประเภท เสียค่าบำรุงตลอดชีพ ๑๐๐ บาท ”
ข้อ ๘. การสมัครเข้าเป็นสมาชิกสมาคม ให้ผู้ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกสมาคมอื่น ใบสมัครตามแบบของสมาคมต่อเลขาธิการ โดยมีสมาชิกสามัญรับรองอย่างน้อย ๑ คน และให้เลขาธิการติดประกาศรายชื่อผู้สมัครไว้ ณ สำนักงานของสมาคม เป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน เพื่อให้สมาชิกคนอื่น ๆ ของสมาคมจะได้คัดค้านการสมัครนั้น เมื่อครบกำหนดประกาศแล้วก็ให้เลขาธิการนำใบสมัครและหนังสือคัดค้านของสมาชิก (ถ้ามี) เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาอนุมัติว่า จะรับหรือไม่รับเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมและเมื่อคระกรรมการพิจารณาการสมัครแล้ว ผลเป็นประการใดให้เลขาธิการเป็นผู้แจ้งให้ผู้สมัครทราบโดยเร็ว
ข้อ ๙. สมาชิกภาพของสมาชิกกิตติมศักดิ์ ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่หนังสือตอบรับคำเชิญของผู้ที่คณะกรรมการได้พิจารณาลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ได้มาถึงยังสมาคม
ข้อ ๑๐. สมาชิกภาพของสมาชิกให้สิ้นสุดลงด้วยเหตุดังต่อไปนี้
๑๐.๑ ตาย
๑๐.๒ ลาออก โดยยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการ และคณะกรรมการได้พิจารณาอนุมัติ และสมาชิกผู้นั้นได้ชำระหนี้สินที่ยังติดค้างอยู่กับสมาคมเป็นที่เรียบร้อย
๑๐.๓ ขาดคุณสมบัติสมาชิก
๑๐.๔ ที่ประชุมใหญ่ของสมาคม หรือคณะกรรมการได้พิจารณาลงมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียนเพราะสมาชิกผู้นั้นได้ประพฤตินำความเสื่อมเสียมาสู่สมาคม
ข้อ ๑๑. สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
๑๑.๑ มีสิทธิเข้าใช้สถานที่ของสมาคมโดยเท่าเทียมกัน
๑๑.๒ มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของสมาคมต่อคณะกรรมการ
๑๑.๓ มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่าง ๆ ที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น
๑๑.๔ มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ของสมาคม
๑๑.๕ สมาชิกสามัญมีสิทธิในการเลือกตั้ง หรือได้รับการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้งเป็นกรรมการสมาคม และมีสิทธิออกเสียงลงมติต่าง ๆ ในที่ประชุมได้คนละ ๑ คะแนนเสียง
๑๑.๖ มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบเอกสารและบัญชีทรัพย์สินของสมาคม
๑๑.๗ มีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันไม่น้อยกว่า ๒๕ คน ทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญได้
๑๑.๘ มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติ และข้อบังคับของสมาคมโดยเคร่งครัด
๑๑.๙ มีหน้าที่ประพฤติตนให้สมกับเกียรติที่เป็นสมาชิกของสมาคม
๑๑.๑๐ มีหน้าที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของสมาคม
๑๑.๑๑ มีหน้าที่ร่วมกิจกรรมที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น
๑๑.๑๒ มีหน้าที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของสมาคมให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
หมวดที่ ๓ การดำเนินกิจการสมาคม
ข้อ ๑๒. ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งทำหน้าที่บริหารกิจการของสมาคมฯ จำนวนอย่างน้อย ๑๕ คน อย่างมากไม่เกิน ๗๕ คน โดยให้ที่ประชุมใหญ่ของสมาคม ฯ เป็นผู้เลือกตั้งนายกสมาคม ๑ คน สำหรับตำแหน่งกรรมการในตำแหน่งอื่นๆ ให้นายกสมาคมเป็นผู้แต่งตั้ง
๑๒.๑ นายกสมาคม ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการของสมาคมเป็นผู้แทนสมาคมในการติดต่อกับบุคคลภายนอก และทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการ และการประชุมใหญ่ของสมาคม
๑๒.๒ อุปนายก ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกสมาคมในการบริหารกิจการสมาคมปฏิบัติตามหน้าที่นายกสมาคมได้มอบหมายและทำหน้าที่แทนนายกสมาคมเมื่อนายกสมาคมไม่อยู่ หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่การทำหน้าที่แทนนายกสมาคมให้อุปนายกตามลำดับตำแหน่งเป็นผู้กระทำแทน
๑๒.๓ เลขาธิการ ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของสมาคมทั้งหมดเป็นหัวหน้า เจ้าหน้าที่ของสมาคมในการปฏิบัติกิจการของสมาคม และปฏิบัติตามคำสั่งของนายกสมาคม ตลอดจนทำหน้าที่เป็นเลขานุการในการประชุมต่าง ๆ ของสมาคม
๑๒.๔ เหรัญญิก มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินทั้งหมดของสมาคม เป็นผู้จัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย บัญชีงบดุลของสมาคม และเก็บเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ของสมาคมไว้เพื่อตรวจสอบ
๑๒.๕ ปฏิคม มีหน้าที่ในการให้การต้อนรับแขกของสมาคม เป็นหัวหน้าในการจัดเตรียมสถานที่ของสมาคม และจัดเตรียมสถานที่ประชุมต่าง ๆ ของสมาคม
๑๒.๖ นายทะเบียน มีหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนสมาชิกทั้งหมดของสมาคมประสานงานกับเหรัญญิกในการเรียกเก็บเงินค่าบำรุงสมาคมจากสมาชิก
๑๒.๗ ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่เผยแพร่กิจการและชื่อเสียงเกียรติคุณของสมาคมให้สมาชิกและบุคคลโดยทั่วไปให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย
๑๒.๘ กรรมการตำแหน่งอื่นๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งคณะกรรมการเห็นสมควรกำหนดให้มีขึ้นโดยมีจำนวนเมื่อรวมกับตำแหน่งกรรมการตาม
ข้างต้นแล้วจะต้องไม่เกินจำนวนที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้
คณะกรรมการชุดแรก ให้ผู้เริ่มการจัดตั้งสมาคมเป็นผู้เลือกตั้ง ประกอบด้วยนายกสมาคมและกรรมการอื่น ๆ ตามจำนวนที่เห็นสมควรตามข้อบังคับของสมาคม
ข้อ ๑๓. คณะกรรมการของสมาคมสามารถอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ ๒ ปี และเมื่อคณะกรรมการอยู่ตำแหน่งครบกำหนดตามวาระแล้ว แต่คณะกรรมการชุดใหม่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ ก็ให้มีคณะกรรมการที่ครบกำหนดตามวาระรักษาการไปพลางก่อนจนกว่าคณะกรรมการชุดใหม่จะได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ และเมื่อคณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ให้ทำการส่งและรับมอบงานกันระหว่างคณะกรรมการชุดเก่าและคณะกรรมการชุดใหม่ให้เป็นที่เสร็จสิ้นภายใน ๓๐ วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนทางราชการ
ข้อ ๑๔. ตำแหน่งกรรมการสมาคม ถ้าต้องว่างลงก่อนครบกำหนดตามวาระก็ให้คณะกรรมการแต่งตั้งสมาชิกสามัญคนใดคนหนึ่งที่เห็นสมควรเข้าดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างลงนั้นแต่ผู้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับวาระของผู้ที่ตนแทนเท่านั้น
ข้อ ๑๕. กรรมการอาจจะพ้นตำแหน่ง ซึ่งมิใช่เป็นการลาออกตามวาระด้วยเหตุผลต่อไปนี้ คือ
๑๕.๑ ตาย
๑๕.๒ ลาออก
๑๕.๓ ขาดจากสมาชิกภาพ
๑๕.๔ ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้ออกจากตำแหน่ง
ข้อ ๑๖. กรรมการที่ประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งกรรมการให้ยื่นใบลาออกเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการ และให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะกรรมการมีมติให้ออก
ข้อ ๑๗. อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ
๑๗.๑ มีอำนาจออกระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อให้สมาชิกได้ปฏิบัติ โดยระเบียบปฏิบัตินั้นจะต้องไม่ขัดต่อข้อบังคับฉบับนี้
๑๗.๒ มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ของสมาคม
๑๗.๓ มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษา หรืออนุกรรมการได้ แต่กรรมการที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการ จะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินวาระของคณะกรรมการที่แต่งตั้ง กรรมการที่ปรึกษาไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในการประชุมคณะกรรมการ
๑๗.๔ มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี และประชุมใหญ่วิสามัญ
๑๗.๕ มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการในตำแหน่งอื่น ๆ ที่ยังมิได้กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
๑๗.๖ มีอำนาจบริหารกิจการของสมาคม เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ตลอดจนมีอำนาจอื่น ๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้
๑๗.๗ มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจการทั้งหมด รวมทั้งการเงิน และทรัพย์สินทั้งหมดของสมาคม
๑๗.๘ มีหน้าที่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ตามที่สมาชิกสามัญจำนวนไม่น้อยกว่า ๒๕ คนร้องขอ ซึ่งการนี้จะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ
๑๗.๙ มีหน้าที่จัดทำเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ทั้งที่เกี่ยวกับการเงิน ทรัพย์สินและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาคมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และสามารถจะให้สมาชิกตรวจดูได้เมื่อสมาชอกร้องขอ
๑๗.๑๐ จัดทำบันทึกการประชุมต่าง ๆ ของสมาคม เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานและจัดส่งให้สมาชิกได้รับทราบ
๑๗.๑๑ มีหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้
ข้อ ๑๘. คณะกรรมการต้องจัดให้มีการประชุมอย่างน้อยปีละ ๔ ครั้ง
ข้อ ๑๙. การประชุมคณะกรรมการ จะต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า ๑๕ คน จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม มติของที่ประชุมคณะกรรมการ ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ถือคะแนนเสียงส่วนใหญ่ของกรรมการผู้เข้าร่วมประชุมเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด
ข้อ ๒๐. ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้กรรมการที่เข้าประชุมในคราวนั้นเลือกตั้งกันเอง เพื่อให้กรรมการคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น
หมวดที่ ๔ การประชุมใหญ่
ข้อ ๒๑. การประชุมใหญ่ของสมาคม ๒ ชนิด คือ
๒๒.๑ ประชุมใหญ่สามัญ
๒๒.๒ ประชุมใหญ่วิสามัญ
ข้อ ๒๒. คณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๆ ละ ๑ ครั้ง ภายใน ๑๒๐ วัน นับจากวันสิ้นสุดรอบบัญชีประจำปีของสมาคม
ข้อ ๒๓. การประชุมใหญ่วิสามัญ อาจจะมีขึ้นได้ก็โดยเหตุที่คณะกรรมการเห็นควรจัดให้มีขึ้นหรือเกิดขึ้นด้วยการเข้าชื่อร่วมกันของสมาชิกไม่น้อยกว่า ๒๕ คน
ข้อ ๒๔. การแจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้เลขานุการเป็นผู้แจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้สมาชิกได้ทราบและการแจ้งจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุวัน เวลา และสถานที่ให้ชัดเจนโดยจะต้องแจ้งให้สมาชิกได้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๗ วัน และประกาศแจ้งกำหนดนัดประชุมไว้ ณ สำนักงานของสมาคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๗ วัน ก่อนถึงกำหนดการประชุมใหญ่
ข้อ ๒๕. การประชุมใหญ่สามัญประจำปี จะต้องมีวาระการประชุมอย่างน้อยดังต่อไปนี้
๒๕.๑ แถลงกิจการที่ผ่านมาในรอบปี
๒๕.๒ แถลงบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชีงบดุลของปีที่ผ่านมาให้สมาชิกรับทราบ
๒๕.๓ เลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ เมื่อครบกำหนดวาระ
ข้อ ๒๖. ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือการประชุมใหญ่วิสามัญจะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า ๕๐ คนของสมาชิกสามัญทั้งหมดจึงจะถือว่าครบองค์ประชุม
ข้อ ๒๗. การลงมติต่าง ๆ ในที่ประชุม ถ้าข้อบังคับได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงที่ลงมติมีคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด
ข้อ ๒๘. ในการประชุมใหญ่ของสมาคม ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่มาร่วมประชุมหรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้ที่ประชุมใหญ่ทำการเลือกตั้งกรรมการที่มาร่วมประชุมคนใดคนหนึ่ง ให้ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น
หมวดที่ ๕ การเงินและทรัพย์สิน
ข้อ ๒๙. การเงินและทรัพย์สินทั้งหมดให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการ เงินสดของสมาคมถ้ามีให้นำฝากไว้ในธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินที่รัฐบาลรับรองหรือให้ลงทุนในหลักทรัพย์รัฐบาล หรือหลักทรัพย์รัฐวิสาหกิจที่มีฐานะมั่นคง ที่รัฐบาลเป็นประกัน
ข้อ ๓๐. การลงนามในตั๋วเงินหรือเช็คของสมาคม จะต้องมีลายมือชื่อของนายกสมาคม หรือผู้ทำการแทนลงนามร่วมกับเหรัญญิก หรือเลขาธิการ พร้อมกับประทับตราของสมาคมจึงจะถือว่าใช้ได้
ข้อ ๓๑. ให้นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินของสมาคมได้ครั้งละไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท (ห้าแสนบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่านั้นจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการหรือกรรมการอย่างน้อย ๒ ท่าน ที่ได้รับมอบหมายและจะอนุมัติให้จ่ายเงินได้ครั้งละไม่เกิน ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สองล้านบาทถ้วน) ถ้าจำเป็นจะต้องจ่ายเกินกว่านี้ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ของสมาคม
ข้อ ๓๒. ให้เหรัญญิก มีอำนาจเก็บรักษาเงินสดของสมาคมได้ไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท (สองหมื่นบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่าจำนวนนี้ จะต้องนำฝากธนาคารในบัญชีของสมาคมทันทีที่โอกาสอำนวยให้
ข้อ ๓๓. เหรัญญิก จะต้องทำบัญชีรายรับ – รายจ่าย และบัญชีงบดุล ตามหลักวิชาการ และมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป รอบบัญชีประจำปีของสมาคมกำหนดให้เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม จนถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคมของทุกปี การรับหรือจ่ายเงินทุกครั้งจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของนายกสมาคม หรือผู้กระทำแทนร่วมกับเหรัญญิก หรือผู้กระทำแทนทุกครั้ง
ข้อ ๓๔. ผู้สอบบัญชี จะต้องมิใช่กรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคม และจะต้องเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต
ข้อ ๓๕. ผู้สอบบัญชี มีอำนาจหน้าที่เรียกเอกสารที่เกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินจากคณะกรรมการและสามารถจะเชิญกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมเพื่อสอบถาม เกี่ยวกับบัญชีและทรัพย์สินของสมาคมได้
ข้อ ๓๖. คณะกรรมการจะต้องให้ความร่วมมือกับผู้สอบบัญชี เมื่อได้รับการร้องขอ
หมวดที่ ๖ การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับและการเลิกสมาคม
ข้อ ๓๗. ข้อบังคับของสมาคมจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่เท่านั้น และองค์ประชุมใหญ่จะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า ๕๐ คน ของสมาชิกสามัญทั้งหมด มติของที่ประชุมใหญ่ในการให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับ จะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด
ข้อ ๓๘. การเลิกสมาคมจะเลิกได้ก็โดยมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาคม ยกเว้นเป็นการเลิกเพราะเหตุของกฎหมาย มติของที่ประชุมใหญ่ที่ให้เลิกสมาคมจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๔ ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด
ข้อ ๓๙. เมื่อสมาคมต้องเลิก ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม ทรัพย์สินของสมาคมที่เหลืออยู่หลังจากที่ได้ชำระบัญชีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้ตกเป็นของ มูลนิธิคณะเศรษฐศาสตร์ หากมูลนิธิได้เลิกไปก่อนก็ให้ตกเป็นของ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิชาการทางเศรษฐศาสตร์
หมวดที่ ๗ บทเฉพาะกาล
ข้อ ๔๐. ข้อบังคับฉบับนี้นั้น ให้เริ่มใช้บังคับได้นับตั้งแต่วันที่สมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเป็นต้นไป
ข้อ ๔๑. เมื่อสมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจากทางราชการ ก็ให้ถือว่าผู้เริ่มการทั้งหมดเป็นสมาชิกสามัญ
13 มกราคม 2566
ผู้ชม 1440 ครั้ง